ความรู้สำหรับประชาชน : ประเมินความเสี่ยง....ด้วยตัวคุณเองตรวจเพื่อก้าวต่อ
เสี่ยง ไม่เสี่ยงคุณรู้ดี... ประเมินความเสี่ยงด้วยตัวคุณ เอชไอวี รู้เร็ว ป้องกัน รักษาง่ายกว่า

      ทำไมเราจึงควรประเมินพฤติกรรมเสี่ยง คุณอาจไม่เคยคิดคุณก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เพราะคุณคิดว่า  * เรามีแฟนคนเดียว   * เราไม่ได้เที่ยวสถานบริการ * เราไม่ได้มีคู่นอนหลายคน  *เราไม่ได้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด* เวลาที่เรามีเพศสัมพันธ์กับใคร เราเลือกแล้วว่า คู่ของเราสวย หล่อ แข็งแรง สะอาด เรียบร้อย คู่ของเราไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับใครมาก่อน * เขามีเราคนเดียว 
แต่เชื่อหรือไม่ว่า “คุณ” ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี  ถ้า

  • คุณยังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีโอกาสที่จะมีเพศสัมพันธ์
  • คุณไม่เคยรู้ว่าคู่นอนของคุณ(ทั้งต่างเพศหรือเพศเดียวกันมีประสบการณ์ทางเพศมาอย่างไร)
  • คุณลังเลที่จะถามคู่นอนของคุณเรื่องประสบการณ์ทางเพศที่ผ่านมา
  • คุณไม่รู้ว่าทุกวันนี้คู่ของคุณมีใครอื่นอีกหรือเปล่า
  • คุณไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

การรับการปรึกษาจะทำให้คุณ

  • เข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆเพื่อประเมินได้ว่ามีโอกาสติดเชื้อหรือไม่มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
  • สามารถตัดสินใจได้ว่าคุณและคู่ครองควรตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในช่วงเวลาที่เหมาะสมเมื่อใด

คุณหรือใคร

  • เคยมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่(ไม่ใช้ถุงยาง)
  • ไม่แน่ใจในพฤติกรรมเสี่ยงของคู่
  • ต้องการมีบุตร
  • ต้องการแต่งงาน ฯลฯ
  • สงสัย
  • กังวลใจต้องการปรึกษา
  • ป่วยหรือมีอาการที่ควรได้รับการวินิจฉัยเพื่อการรักษาที่เหมาะสม เช่น วัณโรคหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ

การปรึกษาก่อนการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่ออะไร?

  • รับการปรึกษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ เพื่อให้พร้อมก่อนการตรวจเลือด
  • ประเมินพฤติกรรมเสี่ยงและการป้องกัน
  • เข้าใจขั้นตอนการตรวจและความหมายของผลเลือด
  • รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจตรวจเลือดด้วยความสมัครใจ
  • ลดความวิตกกังวลและเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์มากขึ้น

หากคุณมีความเสี่ยง  ควรเข้ารับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และควร

  • ตรวจในช่วงเวลาที่เหมาะสม
  • ตรวจตามมาตรฐานได้ที่สถานบริการสุขภาพทุกแห่ง
  • ฟังผลตรวจตามนัดหมาย

ฟังผลการตรวจ....เพื่อก้าวต่อ
หากคุณไม่พบว่าติดเชื้อเอชไอวี

  • รับการปรึกษาเพื่อการป้องกันตนเองและคู่
  • แนะนำเพื่อตรวจซ้ำในกรณีที่จำเป็น

แต่..ถ้าตรวจพบว่าคุณติดเชื้อเอชไอวี

  • รับการปรึกษาและบริการต่างๆ การตรวจสุขภาพและตรวจระดับภูมิคุ้มกัน(CD4)
  • การรักษาด้วยยาต้านไวรัส(ART) อย่างต่อเนื่อง
  • ส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการรับเชื้อเพิ่มและป้องกันคนที่เรารัก
  • การวางแผนชีวิต
  • การปรึกษาเกี่ยวกับการช่วยเหลือและสวัสดิการต่างๆ

ความเชื่อ และความจริง ที่คุณต้องรู้
เอชไอวี /เอดส์ เป็นเรื่องไกลตัว    * 

  • ความจริง เอชไอวี/เอดส์ เป็นเรื่องใกล้ตัวปัจจุบันคาดว่าคนไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 500,000 คนแต่เราไม่มีทางทราบได้ว่าใครบ้างที่ติดเชื้อ เพียงดูจากรูปร่างหน้าตา การศึกษา อาชีพ เนื่องจากเมื่อติดเชื้อ จะไม่มีอาการใดๆนานหลายปี

หากคู่ของเราติดเชื้อเอชไอวี เราจะต้องติดเชื้อด้วยอย่างแน่นอน 100 %

  • ความจริง หากคนหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี คู่อาจยังไม่ติดเชื้อถึงประมาณ 30-50% การตรวจเลือดเพียงคนเดียวไม่สามารถยืนยันผลเลือดของคู่ได้ ดังนั้น ทั้งเราและคู่จึงต้องตรวจเลือดของตนเอง

การถูกยุงกัดหรือการรับประทานอาหรร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถรับเชื้อได้

  • เราไม่สามารถรับเชื้อเอชไอวีจากการถูกยุงกัดหรือการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อ

เอดส์เป็นแล้วเสียชีวิต

  • การติดเชื้อเอชไอวีทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง และเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส แต่หากรับการตรวจเลือดได้เร็วและรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นไม่ว่าป่วย และมีสุขภาพดี สามารถดำเนินชีวิตยาวนานได้อย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำงาน

การใช้ถุงยางอนามัยเป็นการแสดงถึงความไม่ไว้วางใจกัน และยุ่งยากในการชวนคู่ให้ใช้ถุงยางอนามัย

  • การใช้ถุงยางอนามัยเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบห่วงใยกัน ต้องการให้คู่ปลอดภัยทั้งจากโรคเอดส์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์จึงควรชวนคู่ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

รู้หรือไม่ คนเป็นเอดส์ 30 คนต่อวัน คุณจะเป็นหนึ่งในนั้นหรือ ? ประชากรที่ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในวัยเริ่มทำงาน โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงที่เป็นสามีภรรยา (ร้อยละ 38) พฤติกรรมการใช้ยาเสพติดชนิดฉีด(ร้อยละ 9 ) การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จากการใช้หรือให้บริการทางเพศ(ร้อยละ 14) การติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์อื่นๆ(ร้อยละ 7 ) จะเห็นได้ว่ากลุ่มขายบริการทางเพศชายที่ทีเพศสัมพันธ์กับชาย และการใช้สารเสพติดซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่เข้าถึงยาก หรือขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และมีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายโรคไปยังประชากรกลุ่มอื่นๆ ยังคงมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ตามเป้าหมาย     เอดส์เป็นแล้วต้องตระหนักและใส่ใจคนรอบข้าง ดูแลตนเองตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

 “เอดส์ ..รู้เร็ว ป้องกัน รักษาง่ายกว่า